ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดเจนว่าเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยจากข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏได้ระบุไว้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง สุโขทัย เป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีประเพณีนี้จะเป็นพิธีของพราหมณ์ที่กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ยึดถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และมีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทา
จากตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้กล่าวเอาไว้ว่า ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เดิมเรียกพิธีจองเปรียง มีการลอยประทีป จากนั้นนางนพมาศนำดอกโคทมซึ่งเป็นดอกบัวบานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏให้เห็นในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน”
ในปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีลอยกระทง ไม่น่าจะมีความเก่าแก่กว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำกระทงจากดอกบัวมาเป็นต้นกล้วย เนื่องจากว่าดอกบัวเป็นวัตถุดิบที่หายากและมีน้อยเลยใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นกระทงทดแทน แต่เมื่อดูๆ แล้วยังขาดความสวยงาม จึงนำใบตองมาพับเป็นกลีบคล้ายดอกบัวเพื่อตกแต่งให้เกิดความสวยงามสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องในวันลอยกระทงปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยกองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่า ขอเชิญชวนมาร่วมทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยและร่วมรักษ์โลกโดยเน้นการใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย เพื่อลดปริมาณขยะ โดยมีถึง 3 แบบ ประกอบด้วย กระทงเปลือกข้าวโพด กระทงใบหูกวาง และกระทงสับปะรด