กิจกรรม

งานศิลปวัฒนธรรม จัดโครงการรวบรวมภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมในสถาปัตยกรรม “เรือนหมอพร”

ดร.ก้องเกียรติ มหาอินทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) เป็นประธานเปิดโครงการรวบรวมภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม ณ ห้องประชุมวังนางเลิ้ง 3 อาคารปฏิบัติการการท่องเที่ยวและโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ดำเนินโครงการโดยงานศิลปวัฒนธรรม กองกลาง
 
โครงการในช่วงเช้า เป็นกิจกรรมการบรรยายประวัติเรือนหมอพร และองค์ความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมเรือนหมอพร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร อาจารย์สันธาน เวียงสิมา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ อ.ดร.ศาสตรา ศรีหาภาค หัวหน้าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ราชมงคลพระนคร
 
ในช่วงบ่าย นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการลงพื้นที่เรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทยในเรือนหมอพร โดยอาจารย์สันธาน และฝึกปฏิบัติวาดภาพลายเส้นประกอบสีน้ำ โดยอาจารย์ ดร.ปรียานุช คำสนอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรม

โครงการนี้เป็นการมีส่วนร่วมในประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเรือนหมอพร ซึ่งเป็นเรือนหลังเดียวที่ยังเหลืออยู่ในวังนางเลิ้ง ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้วยพื้นที่ตั้ง ของมหาวิทยาลัยเดิมเป็นวังของพระองค์ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสให้อนุรักษ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จเปิดพระอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2519 ผู้มีส่วนร่วมในโครงการประกอบด้วย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากรผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตย์ ในสถาปัตยกรรมไทย และอาจารย์สันธาน เวียงสิมา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครื่องเรือนไม้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผลจากการมีส่วนร่วมนี้ทำให้ได้รับองค์ความรู้ในตัวเรือนหมอพรการเคลื่อนย้ายเรือนทั้งเรือนมาตั้งที่ใหม่ที่มีรูปภูมิสถาปัตยกรรมสง่างามเพื่อการอนุรักษ์และจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในการสร้างเรือนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมความหมายในการสร้างและการตกแต่งเรือนใหม่ตลอดจนการสังเกตความแข็งแรงและการตรวจสอบ ความชำรุดของเรือนไม้เพื่อการซ่อมแซมและการอนุรักษ์

จากองค์ความรู้เรือนหมอพรที่ได้รับในโครงการนี้ สามารถนำมาปรับปรุงซ่อมแซมเรือนหมอพรเพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มั่นคงควบคู่กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ให้เป็น ศูนย์ รวมจิตใจของชาวราชมงคลพระนครได้สำนึกในพระกรุณาธิคุณในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่ชาวราชมงคลพระนครเรียกท่านว่าเสด็จเตี่ย นั้นตราบนานเท่านาน