ภายใต้แนว “Recovering key species for ecosystem restoration
กู้วิกฤตชีวิตในป่า พลิกฟื้นชะตาระบบนิเวศ”
วันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้รักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย เพราะถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ผู้ซึ่งเบียดเบียนธรรมชาติ ต้องหันมาอนุรักษ์และดูแลสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราอย่างจริงจังเสียที
จากข้อมูลของ IUCN Red List สัตว์ป่าและพืชป่ากว่า 40,000 ชนิดกำลังถูกคุกคามและกำลังจะสูญพันธุ์ หากวันหนึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าเหล่านี้หายไป แหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศของพวกมันจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไปด้วย
สัตว์ป่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและให้คนหันมาอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้นจึงมีการกำหนดวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลกขึ้น
สัตว์ “นักล่า” ที่กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์เหล่านี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการลดจำนวนประชากรสัตว์กินพืช ช่วยป้องกันไม่ให้ชนิดพันธุ์พืชที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มีจำนวนน้อยเกินไป โชคดีเป็นอย่างมากที่ความสำเร็จในการอนุรักษ์ที่ผ่านมาคือเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดีว่า มันไม่ใช่เรื่องเกินกำลังของพวกเราที่จะกู้วิกฤตชีวิตสัตว์นักล่าใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้และที่อยู่อาศัยของพวกมันให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
แหล่งที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช http://wildlifedaythailand.org/