ข่าวสาร

14 พฤศจิกายน วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

ความเป็นมาของวันที่ 14 พฤศจิกายน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลพระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า ”สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง” ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน

นับแต่วันนั้นมา ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาจนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จ ตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ สร้างความเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี 2513 ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ไว้วางพระราชหฤทัย  ให้เป็นองค์กรรองรับ โครงการพระราชดำริฝนหลวง มาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการ ได้เสนอในคณะรัฐมนตรีมีมติเฉลิมพระเกียรติในฐานะ พระบิดาแห่งฝนหลวง และให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อสนองพระบรมราโชบาย ตำราฝนหลวงและข้อแนะนำทางเทคนิคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมเกล้าฯ รับมาถือปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผลในช่วงปี พ.ศ.2542-2545 ดังกล่าวข้างต้น ฉะนั้น ในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเห็นสมควรเป็นอย่างยิ่ง ที่จัดทำ “โครงการพระราชดำริฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น เพื่อให้เป็นแม่บทหลักที่ถาวรในการถือปฏิบัติให้อยู่ในกรอบพระบรมราโชบายไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งและสำนึกในพระกรุณาธิคุณล้นพ้นแล้วยังเพื่อให้ โครงการพระราชดำริฝนหลวง พัฒนาก้าวหน้าสัมฤทธิผลตามพระบรมราโชบาย พระราชประสงค์ และพระราชปณิธานอย่างมั่นคงสถาพรสืบไปชั่วกาลนาน

แหล่งที่มา : ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://huahin.royalrain.go.th/prabidaday.php