ข่าวสาร

26 มิถุนายน วันสุนทรภู่

26 มิถุนายน วันสุนทรภู่

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “สุนทรภู่” นั้น เกิดในรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 26มิถุนายน พ.ศ. 2329 อาศัยอยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้มีฝีมือในการประพันธ์ เมื่ออายุ 21 ปีได้ออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง และได้แต่งนิราศเมืองแกลงซึ่งนับว่าเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2เป็นตำแหน่งอาลักษณ์ เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหารแต่นั้นมา และรับราชการจนถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 อายุได้ 70 ปี หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งนั้นมีทั้ง นิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร บทเสภาและบทเห่กล่อม และล้วนทรงคุณค่า เช่น พระอภัยมณี ลักษณวงศ์ โคบุตร นิราศภูเขาทอง คนไทยจึงขนานนามสุนทรภู่เป็นกวีเอกของไทย

สุนทรภู่นั้น นับว่าเป็นผู้ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้น เดิมกระบวนแต่งบทกลอนในสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มักแต่งเป็น ลิลิต โคลง ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นผู้เริ่มเอากลอนเพลงยาวมาเเต่งเรื่องนิทานเรื่องโคบุตรในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ยังเริ่มมีการเล่นสัมผัสในขึ้นในกระบวนกลอน ที่ถือเป็นแบบอย่างกันมาจนถึงวันนี้

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปีชาตกาลของสุนทรภู่ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

แหล่งข้อมูล : สุนทรภู่. 2544. “นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี พิมพ์ครั้งที่ 16.กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.

จินตนาการล้ำเลิศของสุนทรภู่

ในงานกวีของสุนทรภู่นั้น ท่านได้ถ่ายทอดจินตนาการของตนเป็นตัวละครและสิ่งต่างๆ อย่างวิจิตรพิสดาร ในนิทานหลากหลายเรื่อง ซึ่งทำให้วรรณกรรมของสุนทรภู่นั้น ทรงคุณค่า อยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจะอ่านในยุคสมัยใดก็ยังสัมผัสได้ถึงจินตนาการที่ยังคงน่าตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ

นางเงือก สัตว์ในจินตนาการของสุนทรภู่จากเรื่อง พระอภัยมณี นั้น มักจะถูกถ่ายทอดเป็นภาพในรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์หญิง และร่างกายท่อนล่างเป็นหางเหมือนกับปลา แต่ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น คำบรรยายลักษณะของนางเงือก จากตอนที่ 132 ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง” ได้บรรยายลักษณะของนางเงือกไว้ ดังนี้

 

เห็นมัจฉาภาวนาสติตั้งที่ริมฝั่งคงคาชลาสินธุ์

รูปเป็นนางหางเป็นปลาอยู่วารินนิสงส์ศีลดลพระทัยให้เมตตา

จำจะไปตัดหางปลาศรัทธามากประหลาดหลากกว่าสัตว์หมู่มัจฉา

ให้เป็นคนพ้นลำบากจากคงคาตัดหางปลาเสียให้หมดจะงดงาม….

……………………………..

นางมัจฉาฟังวาจาพระดาบสพลางกระถดผินหลังเอาหางหัน

แล้วหลับตามัธยัสถ์นิ่งกัดฟันในทรวงสั่นขวัญหนีดั่งตีปลา

มัฆวานทรงขยับจับพระขรรค์เข้าฟาดฟันบั่นหางนางมัจฉา

ขาดเป็นสินดิ้นสลบซบพักตราอยู่บนแท่นแผ่นผาคูหาบรรพ์

……………………………..

นางมัจฉาหางปลาก็หายสูญบริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม

ทั้งวงพักตร์ลักขณาก็น่าชมดูขำคมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์

 

จะเห็นได้ว่า นางเงือกในจินตนาการของสุนทรภู่นั้น รูปร่างเป็นมนุษย์ผู้หญิง ที่มีอวัยวะเหมือนมนุษย์ หากแต่เพียงมีอวัยวะพิเศษขึ้นมานั่นคือหาง ดังในบทกลอนข้างต้น ที่พระฤๅษีทำพิธีตัดหางนางเงือก และเมื่อตัดหางออกแล้ว นางเงือกก็มีรูปร่างเป็นมนุษย์เพศหญิงปกติ

 

แหล่งข้อมูล : สุนทรภู่. 2544. “นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี” พิมพ์ครั้งที่ 16.กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.

 

จินตนาการล้ำเลิศของสุนทรภู่

ต้นสรรพยา

นอกเหนือจากสัตว์วิเศษแล้ว พรรณไม้ที่มีฤทธิ์วิเศษก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สุนทรภู่ถ่ายทอดจินตนาการสร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้อ่าน ดังเช่นต้นสรรพยา  จากเรื่องสิงหไกรภพ ในตอนที่ 5 สิงหไกรภพลองยา หนีท้าวพินทุมาร เนื้อความกล่าวถึง สิงหไกรภพ ขณะมีอายุได้ 14 ปี ได้แอบเข้าไปยังคูหาทองของท้าวพินทุมาร ยักษ์ผู้เลี้ยงดูสิงหไกรภพ และได้พบกับต้นไม้ประหลาด มีกิ่งก้านสี่สีในต้นเดียวกัน และเมื่อได้กินใบไม้แต่ละสีแล้วก็เกิดสิ่งอัศจรรย์แก่ผู้กิน ดังความว่า  

 

เราทั้งสองลองกินดูเถิดพี่ถ้าร้ายดีก็คงเห็นว่าเป็นไฉน

เจ้าพราหมณ์ฟังน้องตอบก็ชอบใจเข้าเด็ดใบแดงเคี้ยวทั้งสองคน

พอกลืนกายกลายเป็นนาคราชทำอำนาจเลื้อยไล่กันสับสน

นัยน์ตาแดงแผลงฤทธิ์คำรามรณภาษาคนก็ยังรู้อยู่ในใจ

…………………………………………………………

พระโฉมยงองค์สิงหไกรภพจึงเร้ารบให้พี่ขึ้นใบพฤกษา

เจ้าพราหมณ์ไปเก็บใบขาวนั้นมาแล้วเคี้ยวกินตรงหน้าพระน้องชาย

เป็นลิงลมโลดไล่กันในถ้ำแล้วกินนํ้ารูปนั้นจึงพลันหาย

เอาใบเขียวเคี้ยวตามรูปก็กลายเป็นนกแก้วแพรวพรายบินลำพอง

เอาน้ำกลืนคืนเป็นมนุษย์ได้เจ้าชอบใจสรวลสันต์กันทั้งสอง

แล้วเอาใบไม้เหลืองมากินลองเนื้อเป็นทองธรรมชาติสะอาดตา

 

แหล่งข้อมูล : สุนทรภู่. 2544. “นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง สิงหไกรภพ” พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.