วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร โดยปวงชนชาวไทยได้ถือเอาวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันอานันทมหิดล” เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ทรงเป็นพระโอรสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระพี่นางและพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระชนกชนนี ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่ โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นศึกษาต่อที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าศึกษาต่อ
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา และยังทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระองค์ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และประทับอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ ๒ เดือน และได้เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ หลังจากทรงครองสิริราชสมบัติได้ ๑๒ ปี พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง
ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เป็นอเนกประการ
ด้านการศาสนา พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
ด้านการศึกษา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๒ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในด้านการปกครอง พระองค์ทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ ย่านสำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เรียบเรียง : กองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์