ม.ราชมงคลพระนคร จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำชมรม มทร.พระนครอาวุโส “สะสมเสบียงบุญ” ณ พุทธอุทยาน วัดทิพย์สุคนธาราม จ.กาญจนบุรี
รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และสมาชิกชมรม มทร.พระนครอาวุโส เข้าร่วมโครงการ “ศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม” ณ พุทธสถานวัดทิพย์สุคนธาราม ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อำนวยความสะดวกและจัดทีมวิทยากรนำชม พร้อมบรรยายความรู้ถึงแนวคิด วัตถุประสงค์ของการสร้างพุทธสถานและวัตถุมงคลภายในบริเวณพื้นที่วัดซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่ถึง 300 ไร่ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๙
กิจกรรมศึกษาดูงานเริ่มจากอธิการบดี นำคณะผู้บริหาร บุคลากร และสมาชิกชมรม มทร.พระนครอาวุโส กราบสักการะพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ พระพุทธรูปยืนสำริด ขนาดความสูง 32 เมตร ปางขอฝน สง่างามด้วยพุทธศิลป์พระคันธารราษฎร์เป็นงานศิลปะที่ผสานความแข็งแรงทางโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สามารถทานแรงลมได้โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างค้ำยัน และทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 9 ริกเตอร์ ซึ่งนับเป็นอัจฉริยภาพที่น่าทึ่งทางด้านวิศวกรรม
จากนั้น อธิการบดีพร้อมคณะ เข้าศึกษาประวัติการก่อสร้างวัดทิพย์สุคนธาราม ภายในอาคารนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ โดยภายในนิทรรศการประกอบด้วยส่วนจัดแสดงที่มาและประวัติการก่อสร้างวัดทิพย์สุคนธาราม เทคนิคการก่อสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐ ส่วนแสดงการเดินทางของพระพุทธศาสนาจากชมพูทวีปสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ส่วนจัดแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระพุทธศาสนา ปรัชญาคำสอนอันเป็นแก่นของศาสนาพุทธ และส่วนจัดแสดงการสืบทอดศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก
อนึ่ง วัดทิพย์สุคนธาราม จัดสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม โดยท่านมีความประสงค์สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวไทย และประสงค์ให้เป็นปางคันธารราฐ (ปางขอฝน) เนื่องด้วยพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ประกอบกับฝนตกน้อย ภายหลังความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับโครงการสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำหรับท่านที่สนใจเข้าชมพุทธสถานดังกล่าว สามารถติดต่อโดยตรงที่ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์