ข่าวสาร

สัปดาห์อนุรักษ์มรดกโลก ประจำปี 2565

สัปดาห์อนุรักษ์มรดกโลก ประจำปี 2565

วันที่ 9 – 13 ธันวาคม สัปดาห์อนุรักษ์มรดกโลก

          แหล่งมรดกโลก หรือ World Heritage Site เป็นพื้นที่ที่ได้รับจากขึ้นทะเบียนจาก ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งก็คือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เป็นสถานที่ ซึ่งถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา โดยจะมีคณะกรรมการ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการคัดเลือกว่า พื้นที่นั้นๆ มีความเหมาะสมในการพิจารณาให้เป็น “แหล่งมรดกโลก”

นอกเหนือจากพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) จากยูเนสโกหรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่และสถานที่ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทั้งหมด 6 แห่ง

แหล่งมรดกโลกทั้ง 6 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร) มรดกโลกปีพ.ศ.2537 ,อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร มรดกโลกปี พ.ศ.2534 ,แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี มรดกโลกปีพ.ศ.2535 และมีมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง คือที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลกปีพ.ศ.2534 และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกปีพ.ศ.2548 และล่าสุดปีพ.ศ.2564 คือกลุ่มป่าแก่งกระจาน

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2534 ถือเป็นแหล่งธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้เป็นมรดกโลก ด้วยคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ถึง 3 ข้อ คือ ข้อที่ 8 เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ ข้อที่9 เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ และข้อที่ 10 ซึ่งตรงกับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

พื้นที่แห่งนี้ นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่านานาชนิดและความหลากหลายของพืชพันธุ์  เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ 4 เขต คือ ไซโน-หิมาลายัน (Sino-Himalayan) อินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese) อินโด-ไชนิส (Indo-chinese) และซุนเดอิก (Sundaic) รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งเขต ที่ราบฝั่งตะวันออกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นบริเวณที่โดดเด่นที่สุด เป็นตัวแทนระบบ นิเวศป่าเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งสำคัญของโลก

 

รวมถึง เป็นถิ่นอาศัยซึ่งสัตว์ป่านานาชนิด พื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ ถูกสำรวจพบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่มากกว่า 120 ชนิด มีนก 401 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 96 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 41 ชนิด ปลา 107 ชนิด โดยจำนวนสัตว์ป่าที่มา มีถึง 28 ชนิด ที่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์หายากและกำลังถูกคุกคามของโลก ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด เช่น  ควายป่า เสือโคร่ง เสือดำ เสือลายเมฆ วัวแดง กระทิง สมเสร็จ เลียงผา หมาใน ชะนีมือขาว ลิงอ้ายเงี้ยะ นก 9 ชนิดเช่น นกยูงไทย นกเงือกคอแดง ฯลฯ   

  ด้าน “ผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่”  ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ปีพ.ศ. 2548 โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ตามเกณฑ์ข้อ ที่10 เช่นเดียวกับกลุ่มพื้นที่ป่าแก่งกระจาน โดยถือเป็นพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยป่าแบบต่างๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ส่งผลให้ป่าแห่งนี้ มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ

ผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหลากชนิด จากการสำรวจพบว่า มีไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม112 ชนิด นก 392  ชนิด และมีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมกัน ประมาณ 205 ชนิด และมี 9 ชนิด ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ประกอบด้วย ตะพาบหัวกบหรือกราวเขียวหรือกริวดาว  จิ้งจกหินเมืองกาญจน์  ตุ๊กแกเขาหินทราย  กิ้งก่าภูวัว  จิ้งเหลนด้วงตะวันตก  จิ้งเหลนเรียวโคราช งูดินโคราช งูกินทากลายขวั้น และจระเข้น้ำจืด และในจำนวนสัตว์ป่าที่พบทั้งหมดมีหลายชนิดที่มีความสำคัญในระดับโลก และมี 3 ชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ คือ ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง รวมถึงมีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพมีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปจากโลก เช่น ลิงกังหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย  เสือลายเมฆ  กระทิง  เลียงผา  นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต

แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติทุกแห่ง ไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ เท่านั้น  แต่ยังถือเป็นแหล่งสำคัญในการเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้าง อย่างยั่งยืนอีกด้วย

แหล่งที่มา : กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม https://shorturl.asia/6oCvc/