ข่าวสาร

21 มีนาคม วันป่าไม้โลก

21 มีนาคม วันป่าไม้โลก (World Forestry Day)

วันป่าไม้โลก มีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชาทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้น องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบันที่มีอยู่จำกัด

ความสำคัญของป่าไม้

ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ  เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ ได้แก่ แหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับสิ่งมีชีวิต ซึ่งป่าไม้ยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม  ถ้าป่าไม้ถูกทำลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  เช่น  สัตว์  ดิน  น้ำ  อากาศ  ฯลฯ เมื่อป่าไม้ถูกทำลายจะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย  เพราะเมื่อมีการเผาหรือทำลายป่าจะส่งผลให้พื้นดินขาดพืชปกคบุมหน้าดิน เมื่อถึงฤดูฝนฝนที่ตกลงมาจะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไปทั้งหมด นอกจากนั้นถ้าไม่มีต้นไม้แล้วจะไม่มีพืชคอยดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกหนักจะทำให้เกิดน้ำไหล่บ่าลงท่วมพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่ม และเมื่อถึงฤดูแล้งก็จะไม่มีน้ำใต้ดินเพื่อหล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธานทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็กำลังลังเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบของปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม  เช่น  การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้เกษตรกรทำนาไม่ได้ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้เนื่องจากมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าป่าไม้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม

ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 138.57 ล้านไร่ ในปี 1973 คิดเป็น 43.21 เปอร์เซนต์ ก่อนลดลงเหลือเพียง 82.18 ล้านไร่ ในปี 1998 หรือราว 25.28 เปอร์เซนต์ และได้เพิ่มขึ้นเป็น 107.24 ล้านไร่ (33.44%) ในปี 2008 ก่อนลดลงเหลือ 102.29 ล้านไร่ (31.62%) ในปี 2014 (ตัวเลขจากกรมป่าไม้)

ประเทศไทยมีตัวเลขป่าที่ปลูกขึ้นใหม่อยู่ที่ราว 21 เปอร์เซนต์ (ตัวเลขจากปี 2010) ขณะที่ความต้องการใช้ไม้เศรษฐกิจภายในประเทศมีสูงถึง 41.4 ล้านตัน โดยกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้เอกชนปลูกไม้เศรษฐกิจไปแล้ว 0.83 ล้านไร่ ยังคงขาดพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคอีกว่า 16.28 ล้านไร่ (ตัวเลขในปี 2014)

จากตัวเลขข้างต้นกล่าวได้ว่าไทยยังคงต้องทำงานอีกมากในการจัดการพื้นที่ป่าเพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้คงอยู่อย่างยั่งยืน ในภาวะที่ปัญหาโลกร้อนเริ่มเห็นผลได้ชัดมากขึ้นทุกวัน

วิธีอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

  • การปลูกป่า เป็นการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างหนึ่ง
  • การป้องกันไฟไหม้ป่า ไฟป่าถือเป็นอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับป่าไม้และฟื้นฟูให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมได้ยาก
  • การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ปัจจุบันมีการบุรุกละทำลายป่าไม้ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งการตัดไม้ และการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณป่าไม้ จึงต้องมีการป้องกันเพื่อไม่ให้ป่าถูกทำลายไปมากกว่าเดิม
  • การใช้วัสดุทดแทนไม้ ในการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างอื่น
  • การใช้ไม้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัด คือการนำเนื้อไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยใช้ทุกส่วนของต้นไม้
  • ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ให้การศึกษา ทั้งเยาวชนและประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และช่วยกันดูแลในการรักษาป่าไม้

 

กิจกรรมวันป่าไม้

  • จัดนิทรรศการเกี่ยวกับป่าไม้ให้ความรู้เกี่ยวกับป่าไม้ เพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้กับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการในเรื่องการรักษาฟื้นฟูป่าไม้
  • จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกป่าให้ประชาชนออกมาร่วมมือช่วยกันปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย

 

แหล่งข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม Silpa-mag.com กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1728