คลังความรู้

พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติของเรา นั้นใหญ่หลวงเป็นอเนกปริยาย เพราะตั้งแต่ทรงเศกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และได้เป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชในรัชกาลปัจจุบัน จวบจนเจริญพระชนมายุเป็น “สมเด็จย่า” และ “สมเด็จทวด” ของพระราชนัดดาและพระราชปนัดดาหลายพระองค์แล้วก็ตาม แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียัง ทรงมีพระอุตสาหวิริยะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

    สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยจัดตั้ง

  1. หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ เดินไปในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน  
  2. มูลนิธิขาเทียม เมื่อ 17 ส.ค.2535  ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และครอบครัวได้  
  3. มูลนิธิถันยรักษ์ ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ มี.ค.2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม ได้นำเงินพระราชทาน และเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม เครื่องอุลตราซาวด์ และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่บวชาญเรื่องตรวจ วินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่นๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  

 

     นอกจากนี้ ศูนย์ถันยรักษ์ยังได้เผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม และการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และร่วมมือกับหลายโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ฝึกอบรม รังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคทั่วประเทศ ตามพระราชปณิธานที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นจากโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ ความเข้าใจ และการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์โดยเท่าเทียมกัน  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดต้นไม้ ดอกไม้ ธรรมชาติ ทรงสร้าง พระตำหนักดอยตุง  ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในพื้นที่ขอเช่าจากกรมป่าไม้เป็นเวลา 30 ปี บริเวณบ้าน อีก้อป่ากล้วย เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 เมตร  ทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า “บ้านที่ดอยตุง” ทรงพัฒนาดอยตุง และส่งเสริมงานให้เขา ดังนี้

  1. ทรงพระราชทานกล้าไม้แก่ผู้ตามเสด็จ และทรงปลูกป่าด้วยพระองค์เอง
  2. ทรงนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา และนำไม้ดอกมาปลูก
  3. โครงการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง, กล้วย, กล้วยไม้, เพาะเห็ดหลินจือ, สตรอเบอรี่
  4. จัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด บ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงรายพระองค์ทรงได้รับขนานนามว่า “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง” ของปวงชนชาวไทย  

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นผู้มีพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาตลอด พระชนมชีพล้วนงดงาม สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ทรงเป็นแบบฉบับอัน ประเสริฐในการดำเนินชีวิต  

สมเด็จย่ากับการบริหารราชการแผ่นดิน

ระหว่างพ.ศ. 2503-2504 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชโดยดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงรับพระราชภาระเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระองค์ตลอดเกือบ 7 เดือน ในการนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณ ได้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์โดยในระหว่างนั้นได้ทรงเสด็จฯเข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอมิได้ขาด กับยังได้ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายและประกาศทีสำคัญหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์อิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ.2503 พระราชบัญญัติเรื่องการค้าประเวณี พ.ศ.2503 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งชาติระหว่างเวลา พ.ศ.2504-2509 และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 เป็นต้น

     นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังได้ทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

   นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2507 อันเป็นปีที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่เพิ่งสร้างเสร็จได้ราวปีเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้อัญเชิญสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พระตำหนักแห่งใหม่นี้ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงพระดำเนินไปตามป่าเขาและแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้ได้ทรงพบเห็นราษฎรหลังจากนั้นเป็นต้นมา

     ทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง ทุกครั้งอย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง 1-2 ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปีพ.ศ. 2511 ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

     ดังนั้นในปีถัดมา (พุทธศักราช 2512) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรเข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระ ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล”  หรือที่พระราชทานชื่อย่อ “พอ.สว.”  ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2512

     สมเด็จย่าทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคม มูลนิธิต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     พระราชทานเงินสมทบทุนโรงพยาบาลโรคติดต่อปากคลองสาน ธนบุรี เพื่อสร้างประปาชั่วคราวช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคม สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย จังหวัดสงขลา

     ใน พ.ศ. 2503 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง “อาคารศรีสังวาลย์” ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนของมูลนิธิมาส่งเสริมกิจการต่างๆ ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อนจังหวัดลำปาง ใน พ.ศ. 2505 และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนจิตต์อารีของมูลนิธิซึ่งเป็นบ้านและโรงเรียนของลูกผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยังไม่ได้รับเชื้อจากพ่อแม่ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 500,000 บาท จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535

สมเด็จย่ากับการศึกษาของเยาวชนในชนบทไทย

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในเขตชนบทเป็นอย่างมากด้วยทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เยาวชนในชนบท มีความรู้ความคิดและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดอันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชนบท แต่จากการ เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในปีพ.ศ. 2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกลับทรงพบกับสภาพความขาดแคลน โรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล ประกอบกับการสื่อสารโทรคมนาคมก็มิได้เจริญเฉกเช่นในปัจจุบัน ทั้งในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของเหล่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวางทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเพิ่มความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแทรกซึม ซึ่งบางแห่งมิได้พูดภาษาไทยกัน ด้วยซ้ำจะเกิดความไม่แน่ชัดว่าตนคือคนไทยด้วยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อความทราบใต้ฝ่าพระบาทว่ากองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ได้กำหนดโครงการที่จะจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้นในเขตพื้นที่ตามแนวชายแดนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน 29 แห่งภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า 185 แห่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้ทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ 400 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษา ส่วนที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนมีเพียง 170 โรงเรียน และเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง พระองค์ได้ทรงฝากให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงช่วยดูแลแทนดังพระราชพระแสที่ว่า “ย่าแก่แล้ว ไปไหนไม่ค่อยไหว ถ้าสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ก็ให้เยี่ยมแทนย่าด้วย” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเยาวชนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลเป็นล้นพ้น

สมเด็จย่ากับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เอื้อคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างมหาศาลอีกประการหนึ่งคืองานเกี่ยวกับการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมให้ฟื้นคืนกลับมามีสภาพที่ดีดังเดิม ซึ่งหนึ่งในหลายๆ งานในด้านนี้ของพระองค์ได้แก่โครงการพัฒนาดอยตุง ดังพระราชดำริที่ว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุงพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกเปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นจึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. 2531

     ปัจจุบันนี้ สภาพป่าบนดอยตุงสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเชื่อว่า เมื่อหลายปีก่อนเคยเป็นภูเขาที่แห้งแล้งไม่มีต้นไม้อยู่เลยด้วย พระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงนี้เอง ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพ ความเป็นป่าได้เกิดชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเป็นระบบ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม

แหล่งที่มา : อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี