พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “สุนทรภู่” นั้น เกิดในรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 อาศัยอยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้มีฝีมือในการประพันธ์ เมื่ออายุ 21 ปีได้ออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง และได้แต่งนิราศเมืองแกลงซึ่งนับว่าเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 2 เป็นตำแหน่งอาลักษณ์ เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหารแต่นั้นมา และรับราชการจนถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 อายุได้ 70 ปี หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งนั้นมีทั้ง นิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร บทเสภาและบทเห่กล่อม และล้วนทรงคุณค่า เช่น พระอภัยมณี ลักษณวงศ์ โคบุตร นิราศภูเขาทอง คนไทยจึงขนานนามสุนทรภู่เป็นกวีเอกของไทย
สุนทรภู่นั้น นับว่าเป็นผู้ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้น เดิมกระบวนแต่งบทกลอนในสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มักแต่งเป็น ลิลิต โคลง ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นผู้เริ่มเอากลอนเพลงยาวมาเเต่งเรื่องนิทานเรื่องโคบุตรในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ยังเริ่มมีการเล่นสัมผัสในขึ้นในกระบวนกลอน ที่ถือเป็นแบบอย่างกันมาจนถึงวันนี้
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปีชาตกาลของสุนทรภู่ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
แหล่งข้อมูล : สุนทรภู่. 2544. “นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี” พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.