กิจกรรม

ม.ราชมงคลพระนคร นำนักศึกษาเดินตามรอยพ่อ เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จ.ฉะเชิงเทรา

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ม.ราชมงคลพระนคร) มอบหมายให้ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ โครงการมทร.พระนคร สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ 1 ศึกษาดูงานวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายวัชรพงษ์ สูงปานเขา ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการ ดำเนินโครงการโดยกองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559
ในการนี้ นักศึกษา 9 คณะ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ รวม 100 คน เดินทางไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของประเทศไทย โดยนักศึกษาได้รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาและผลงานการดำเนินการต่างๆ ภายในศูนย์ฯ บนพื้นที่กว่า 1985 ไร่ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมให้กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร
ผลจากการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จและได้รับการเผยแพร่สู่เกษตรกรทั่วประเทศ อาทิ การปลูกมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงกบนาในบ่อซีเมต์ การเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังในภาวะเพลี้ยแป้งระบาด การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น โดยนักศึกษายังได้่นั่งรถรางชมพื้นที่ศึกษาวิจัยและแปลงพืชตัวอย่างโดยรอบศูนย์อีกด้วย
จากนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบบ้านอ่างเตย อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้พัฒนาได้จริง โดยนักศึกษาได้เรียนรู้การสร้างรายได้ตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านฐานการเรียนรู้ สี่กิจกรรม ประกอบด้วย การปลูกหน่อไม้นอกฤดู การทำไม้กวาดดอกหญ้า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม และการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยนักศึกษาได้รับถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ที่ยินดีมอบความรู้ด้วยความตั้งใจ
อนึ่ง บ้านอ่างเตย เป็นหมู่บ้านขนาด 320 ครัวเรือน มีประชากร 1464 คน มีพื้นที่ประมาณ 24,000 ไร่ ด้วยความคิด เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชาวชุมชนบ้านอ่างเตยดำรงชีวิตในความพอประมาณพึ่งพาตนเอง มีกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน เช่น การปลูกผักสวนครัวไว้กินภายในครัวเรือน และเหลือขายได้ในรูปของกลุ่ม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน การรวมกลุ่มบริหารทุนชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน เลือกใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำลายดิน รวมถึงจัดตั้งกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและศิลปะการทอผ้าดั้งเดิมในท้องถิ่น นับว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง