รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นประธานเปิดโครงการ การจัดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ภายใต้ชื่องาน “ทำดีถวายพ่อ ตามรอยพระราชา” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุมกรมหลวง ชั้น 6 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ
“การสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยกันจรรโลงศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จะทำให้เกิดผู้สืบทอดและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ในวาระที่พระองค์เสด็จสวรรคต มหาวิทยาลัยขอตั้งปณิธาน “ทำดีถวายพ่อ ตามรอยพระราชา” สืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทำดีเพื่อสังคมส่วนรวม เพื่อให้เกิดการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ดั่งพระบรมราโชวาทที่ว่า “…งานด้านการศึกษาศิลปวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญา และทางจิตใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุ และเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยให้คงอยู่…สืบไป”
ภายในโครงการได้รับความสนใจ จากผู้บริหารมหาวิทยาลัย บุคลลากร บุคคลภายนอก และนักศึกษาต่างชาติ ทั้งชาวจีนและภูฏานกว่า 200 คน ร่วมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ อันประกอบด้วย 5 กิจกรรม ที่วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก 5 คณะ คัดสรรมาถ่ายทอด สอดคล้องกับแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่
1. “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย” ถ่ายทอดองค์ความรู้โดย อาจารย์วัชรพงษ์ สูงปานเขา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อาจารย์นเรศ กันธะวงค์ ผู้ช่วยคณบดีคณะศิลปศาสตร์และนางสาววันทนา ครุฑจันทร์ ที่ปรึกษาชมรมศิลปะการแสดง โดยวิชานี้ถ่ายทอดความรู้ในแบบสองภาษา โดยได้รับการตอบรับจากนักศึกษาชาวจีนและภูฏาน กว่า 40 คน ที่ได้รับความรู้และสนุกสนานไปกับ การนุ่งผ้าโจงกระเบน เรียนรู้นาฏยศัพท์ หรือศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับลักษณะท่ารำ ที่ใช้ในการเรียนการสอนทางด้านนาฏศิลป์ไทย เช่น จีบหงาย จีบคว่ำ จีบหลัง ท่าตั้งวง กระดกเท้า ประเท้า เป็นต้น ก่อนจะประยุกต์สู่ท่ารำวงมาตรฐานผ่านเพลงงามแสงเดือน เพลงรำมาสิมารำ และเพลงชาวไทย
2. “อบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตสื่อสำหรับโรงเรียนในชนบท” โดยวิทยากรจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ผศ.ว่าที่ ร.ต.พรชัย เตชะธนเศรษฐ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และ ผศ.อำนาจ เจนจิตศิริ โดยนักศึกษาผู้ร่วมรับการอบรม จะได้เรียนรู้วิธีการสร้างสื่อประกอบการสอนด้านงานช่าง อาทิแบบจำลองโวลท์มิเตอร์ โดยผลงานของผู้เข้าร่วมรับการอบรมในวิชานี้ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้เรียนแล้ว ยังได้บุญจากการร่วมส่งต่อผลงานสื่อการสอนนี้ สู่โรงเรียนในชนบท ซึ่งทางคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมจะได้บริจาคเพื่อเป็นสื่อสร้างปัญญาและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิชาช่างแก่เด็กในพื้นที่ห่างไกลต่อไป
3. “อบรมเชิงปฏิบัติการ การทำกระเป๋าออมทรัพย์” โดยวิทยากรจากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และศูนย์การจัดการความรู้ ผศ.ลักขณา จาตกานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการความรู้ และ ผศ.เจทญา กิจเกิดแสง ผู้อำนวยการกองศิลปวัฒนธรรม
จากเศษผ้าชิ้นเล็กๆ เหลือใช้จากการตัดเสื้อผ้า นำมาเย็บต่อกันด้วยมือ สู่อุปกรณ์ที่ทั้งช่วยออมทรัพย์ ทั้งสามารถต่อยอดเพื่อสร้างทรัพย์ในรูปแบบของกระเป๋าทำมือที่มีเอกลักษณ์ใบเดียวในโลก และในวิชานี้ยังพิสูจน์ว่า งานเย็บปักถักร้อย ไม่ถูกจำกัดว่าเป็นงานเฉพาะของผู้หญิง เพราะนักศึกษาชายต่างโชว์ฝีมือเย็บอย่างคล่องแคล่วและสวยงาม
4. “อบรมเชิงปฏิบัติการ การบริหารการเงินส่วนบุคคล” โดยวิทยากรจากคณะบริหารธุรกิจ ผศ.กมลวรรณ พิมพ์แพทย์ และอาจารย์อุมาพร สุทธิคุณ โอรัญรักษ์ ถ่ายทอดความรู้เศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่าย เริ่มต้นด้วยการทำบัญชีครัวเรือน ด้วยหลักการบริหารรายได้และรายจ่าย ตามแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง และหัวข้อ การวางแผนการเงินสำหรับการปลดเกษียณ ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกช่วงวัย ได้เข้าใจและวางแผนทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีพอใช้ไม่ขัดสน ตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้นจนถึงวันหลังเกษียณ
5. “อบรมเชิงปฏิบัติการ การทำน้ำยาล้างจานสมุนไพร” โดยวิทยากรจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์อัญชนา ขัตติยะวงศ์ และอาจารย์สิริรัตน์ พานิช กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอบรมอย่างล้นหลามเช่นกัน เพราะได้เรียนรู้วิธีทำน้ำยาล้างจาน ที่ได้ทั้งความสะอาด ผลผลิตมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ทั้งมะกรูด มะนาว และมะขาม ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม หลังจบงาน ผู้เข้าอบรมจะได้น้ำยาล้างจานสมุนไพรกลับบ้านไปใช้จริงอีกด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรม “ทำดีถวายพ่อ ตามรอยพระราชา” ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทั้งจากช่อง U Channel และรายการ มหาวิทยาลัยท้าฝัน ร่วมทำข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว