กิจกรรม

มทร.พระนคร สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ 2

ม.ราชมงคลพระนคร เรียนรู้ “ศาสตร์แห่งพระราชา” นำนักศึกษาลุยถึงลูกถึงคน “ปล่อยเกาะ-เข้าป่า-หาอาหารกินเอง” เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มาบเอื้อง ชลบุรี รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มอบหมายให้ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ มทร.พระนคร สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ 2 วิถีเศรษฐกิจพอเพียงในวิถึชีวิตไทย โดยมี นายวัชรพงษ์ สูงปานเขา ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการ โดยกองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร ระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2560 ในการนี้ นักศึกษา 9 คณะ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ เดินทางไปยังศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยนักศึกษาได้รับฟังการบรรยายแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มาของการก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง โดยภายในศูนย์ใช้แนวคิดปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “การ ปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาได้ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ” บรรยายโดย อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในช่วงบ่าย นักศึกษาได้ทัศนศึกษาภายในบริเวณพื้นที่ศูนย์กสิกรรมฯ เก็บรายละเอียดพืชพรรณต่างๆ ที่วิทยากรอธิบาย และภายหลังทัศนศึกษา ก็เป็นเวลาอาหารเย็น โดยมีพ่อครัวแม่ครัวเป็นตัวนักศึกษาเอง ซึ่งนักศึกษาได้นำองค์ความรู้เรื่องพืชพรรณที่ได้จากวิทยากร ออกตระเวนหาพืชสมุนไพร ผักสวนครัว แม้แต่การสุ่มและทอดแหเพื่อหาปลามาประกอบเป็นอาหารเย็นที่ทั้งอร่อย และภาคภูมิใจในมื้ออาหารจากฝีมือตนเอง และสร้างความตระหนักในความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในไทย เพียงพื้นที่ไม่กี่ไร่ ก็สามารถปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบสำหรับการเลี้ยงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้โดยไม่ยาก ส่วนกิจกรรมในวันที่สอง นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ศูนย์กสิกรรม ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะแยกย้ายกันปฏิบัติหน้าที่ตามที่แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้าห่มผ้าปูที่นอน ทำความสะอาดห้องน้ำ คัดแยกและกำจัดขยะ กวาดถูทำความสะอาดพื้นที่ฝึกอบรม เปลี่ยนน้ำล้างจานดูแลพื้นที่โรงอาหาร เนื่องจากภายในศูนย์กสิกรรมฯ ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องช่วยเหลือตนเองแทบทั้งหมด โดยไม่มีเจ้าหน้าที่คอยบริการ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยบ่มเพาะจิตสำนึกความรับผิดชอบของนักศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ต้องเริ่มจากจิตสำนึกรู้หน้าที่ตนเอง จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการเข้าฐานการเรียนรู้สร้างผลิตภัณฑ์เครื่องใช้จากธรรมชาติ ประกอบด้วยฐานคนรักดิน เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ตามแนวคิดเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ฐานคนมีน้ำยา รับการถ่ายทอดความรู้การทำสบู่สมุนไพร และน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ในส่วนฐานคนรักสุขภาพ สนุกสนานไปกับการทำน้ำคลอโรฟิลเพื่อสุขภาพ คั้นสมุนไพรพื้นบ้านสดๆ กับมือ และหน้าใสมีออร่าไปกับสูตรโคลนหมักพอกหน้า ก่อนจาก นักศึกษาได้ร่วมระดมความคิดสรุปผลการเรียนรู้ ความเข้าใจต่อหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้กิจกรรมสองวันหนึ่งคืน ที่สร้างทั้งวินัย และความพร้อมที่จะถ่ายทอดศาสตร์แห่งองค์พระราชา ที่มอบไว้เป็นมรดกแก่ปวงชนชาวไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และพร้อมเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม…อย่างยั่งยืน