ภาพบรรยาการศนิทรรศการการประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย ครั้งที่ 9 : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น
ม.ราชมงคลพระนคร ยกทัพผลงานวิจัยสนองพระราชดำริฯ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อวดโฉมในงานประชุมวิชาการ อพ.สธ. ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มอบหมายให้ ผศ.ลักขณา จาตกานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการความรู้ เป็นผู้แทนร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทูนเกล้าฯ ถวายกระเช้าของที่ระลึก ในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย ครั้งที่ 9 : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น เมี่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ดำเนินการจัดการประชุมโดย โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะหน่วยงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. นำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ร่วมจัดแสดง และมีคณาจารย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย และสาธิตอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม นำเสนองานวิจัยการพัฒนาแผ่นใยไม้อัดซีเมนต์ที่มีความแข็งแรงและเป็นฉนวนป้องกันความร้อนสูงจากเส้นใยกากมะพร้าวและต้นข้าวโพด คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยการพัฒนาธูปหอมจากเปลือกมะนาว การพัฒนาผ้าม่อฮ่อมจังหวัดแพร่ด้วยงานทองลายไทยสำหรับเคหะสิ่งทอเชิงพาณิชย์ การพัฒนาศักยภาพเปลือกทุเรียนในผลิตภัณฑ์ขนมอบ การพัฒนาศักยภาพเมล็ดทุเรียนในผลิตภัณฑ์ขนมลูกชุบ โครงการงานประดิษฐ์ถ่านดูดกลิ่นจากภูมิปัญญาการเผาถ่านไม้โกงกาง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ ชุมชนตำบลบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม คณะวิทยาศาสตร์ นำเสนอผงานวิจัยการใช้คุณค่าของสารอาหารในโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพผิว คณะวิศวกรรมศาสตร์ นำเสนอการพัฒนาระบบเตือนภัยจากการรุกล้ำจากน้ำเค็มด้วยเทคนิคไอโอที คณะศิลปศาสตร์ นำเสนอผลงานการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพการแปรรูปสมุนไพรน้ำมันเขียวใบมะยม และงานวิจัยศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารพื้นบ้านของชุมชนแพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น นำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์จากต้นกก ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา และผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ นำเสนอผลงานการทดสอบประสิทธิภาพระบบการพิมพ์พื้นนูนและการพิมพ์พื้นฉลุบนกระดาษหัตถกรรมจากเยื่อธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าและการใช้งานในเชิงพาณิชย์ งานวิจัยการใช้ประโยชน์วัสดุจากหญ้าแฝกกับการออกแบบผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่นภาคกลางสู่แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลงานการศึกษารูปแบบอัตลักษณ์เครื่องเรือนผูกไม้ไผ่เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบบ้านพักอาศัยโฮมสเตย์ ในการนี้ ผู้เข้าชมงาน ยังได้ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ประดิษฐ์กระเป๋าผ้าม่อฮ่อมลงสีทองลายไทย โดยวิทยากร คณาจารย์จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผลิตครีมบำรุงผิวด้วยคุณค่าสารอาหารจากโยเกิร์ต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลและรับของที่ระลึกเป็นผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ดำเนินกิจกรรมโดยกองศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมและให้ความสนใจตัวอย่างงานวิจัยที่ม.ราชมงคลพระนครนำเสนอเป็นจำนวนมาก