กิจกรรมวันพืชมงคล 11 พฤษภาคม 2563

กิจกรรมที่กองศิลปวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

เนื่องในวันพืชมงคล

มีการจัดทำแบนเนอร์ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ความสำคัญของวันพืชมงคล

11 พฤษภาคม 2563 วันพืชมงคล ประจำปี 2563
วันพืชมงคลเป็นวันหนึ่งในวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย โดยในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก เป็นต้น ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเริ่มการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยจะโปรดเกล้าแต่งตั้งเทพีหาบพันธุ์พืช เช่น พันธุ์ข้าว ตามหลังพระยาแรกนา โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพระโคเทียมแอกและไถพร้อมอยู่ ณ บริเวณนาจำลองที่ท้องสนามหลวง
พระยาแรกนาจะไถหว่านพันธุ์พืช โดยใช้พันธุ์พืชที่เทพีหาบตามหลังหว่านลงบนนาจำลองเสมือนเป็นการประกาศแก่เกษตรกรว่าฤดูกาลทำนาเริ่มแล้ว โดยสมมุติว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาเริ่มการหว่านไถเป็นแบบอย่างและเป็นมงคล เพื่อให้เกษตรกรดำเนินตาม

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2563 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยงดการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้

จากเดิมที่สำนักพระราชวังได้กำหนดให้ประกอบพระราชพิธีในวันอาทิตย์ที่ 10 และวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกอบพิธี ปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานและพืชพันธุ์ต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 โดยนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานในฤดูทำนาปี 2563 และพันธุ์พืชต่าง ๆ มาเข้าประกอบพิธี พร้อมทั้งพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา ในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรทุกสาขาทั่วประเทศ
แหล่งข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แหล่งข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมการข้าว

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อไถหว่านครบ 9 รอบ เสร็จแล้วกลับโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์จะนำสิ่งของ 7 สิ่ง มีข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ไปเลี้ยงพระโคที่หน้าพระที่นั่ง เมื่อพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนาย คือ
ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)
“ผ้านุ่งแต่งกาย” คือผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ เป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุม เพื่อให้พระยา แรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ
ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
แหล่งข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์