นักศึกษาปลูกป่าแปลง 905 จ.กาญจนบุรี

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีม.ราชมงคลพระนคร มอบหมายให้ ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า เป็นประธานเปิดโครงการ มทร.พระนครสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช รอบที่ 3 กิจกรรมบำรุงรักษาต้นไม้ ณ แปลง 905 จ.กาญจนบุรี โดยมีนายวัชรพงษ์ สูงปานเขา ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นผู้กล่าวรายงาน ดำเนินโครงการโดยกองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2559

ในการนี้ นักศึกษา 9 คณะ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวม 50 คน เดินทางไปยังพื้นที่แปลง 905 อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบบูรณาการ ประกอบด้วย การจัดทำแผนผังต้นไม้ การบำรุงรักษาต้นไม้และใส่ปุ๋ยต้นไม้เดิม พร้อมปลูกกล้าไม้ยืนต้นเพิ่มเติมในพื้นที่ได้แก่ ต้นมะค่าแต้ โหรง จามจุรี และลูกเลือด โดยได้รับความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่กองการเกษตรและสหกรณ์ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ภายหลังจากที่นักศึกษาได้เรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์พืชแล้ว นักศึกษาแต่ละคณะยังได้ระดมความคิด นำองค์ความรู้ที่เรียนในสาขาของตนเอง มาบูรณาการเข้ากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมการผลิตทางด้านเกษตรกรรม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจากทุกคณะ

นอกจากนี้ นักศึกษายังเรียนรู้ประวัติศาสตร์เส้นทางรถไฟสายมรณะ ณ พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด พิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงอดีตทหารเชลยและแรงงานชาวเอเชียที่เคยเป็นแรงงานในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างไทยและเมียนมาร์ เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

อนึ่ง พื้นที่แปลง 905 อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่สนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งม.ราชมงคลพระนคร ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 โดยปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้บุคลากรและนักศึกษาจาก 9 คณะ เกิดความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา รู้ค่าการใช้ประโยชน์ของพันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืนสืบไป

ที่มา : กองศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชมงคลพระนคร