ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cassia fistula Linn. |
---|---|
วงศ์ | Caesalpiniaceae |
ชื่อสามัญ | – Indian Laburnum – Pudding-pipe Tree – Golden Shower |
ชื่อท้องถิ่น | – ชัยพฤกษ์ ราชพริก คูน (ภาคกลาง) – คูน (อีสาน) – ชัยพฤกษ์ ลักเคย, ลักเกลือ (ใต้) – ชัยพฤกษ์ คูน ลมแล้ง (ภาคเหนือ) |
ราก และลำต้น | ราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นสูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นอ่อนมีลักษณะเรียบ สีเทาแกมเขียว ต้นที่มีอายุมากเปลือกแตกสะเก็ดเป็นสี่เหลี่ยม สีน้ำตาล ต้นเล็กแตกกิ่งในระดับล่าง เมื่อต้นใหญ่ลำต้นสูง แตกกิ่งมากบริเวณส่วนยอด ระบบราก เป็นระบบรากแก้ว และแตกออกเป็นรากแขนงยั่งลึกได้มากกว่า 2 เมตร |
ใบ | ใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาวประมาณ 20-30 ซม. แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อย ออกเป็นคู่เรียงสลับตรงข้าม และเยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยแต่ละก้านมีประมาณ 3-8 คู่ ใบย่อยมีก้านใบยาวประมาณ 5-10 ซม. แต่ละใบมีรูปทรงรี แกม รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลมสอบ มีสีเขียวอ่อน และค่อยๆเข้มขึ้นจนเขียวสด ใบกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 7-15 ซม. ใบคู่แรกๆมีขนาดเล็ก และใหญ่ขึ้นในคู่ถัดไป ใบส่วนปลายมีขนาดใหญ่สุด ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านล่างมีขน |
ดอก | ดอกออกเป็นช่อ แทงออกตามกิ่งก้าน ช่อห้อยลงด้านล่าง ช่อดอกโปร่งยาวสีเหลือง ยาวประมาณ 20-40 ซม. แต่ละก้านดอกประกอบด้วยดอกจำนวนมาก แต่ละดอกมีก้านดอกสั้น ยาว 1-3 ซม. มีใบประดับใต้กลีบดอก กลีบดอกมีสีเหลืองประมาณ 5 กลีบ รูปรีหรือกลม ด้านในประกอบด้วยเกสร เพศผู้ 10 อัน มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่รูปขอบขนาน มีขน อับเรณูยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกจะออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ |
ผล | ผล มีลักษณะเป็นฝักยาว ทรงกลม ยาวได้มากถึง 60 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล น้ำตาลดำ และดำ ตามอายุของฝัก เมล็ดมีลักษณะแบน รูปกลมรี สีน้ำตาลถึงดำ เรียงเป็นชั้นๆ มีผนังกั้นจำนวนมาก ฝักแก่จะยังติดห้อยที่ต้น และจะร่วงประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม |