กล้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์Musa sapientum Linn.
ชื่ออื่นๆกล้วยไข่ กล้วยใต้ กล้วยส้ม กล้วยหอม (เหนือ) กล้วยนํ้าว้า (กลาง) แหลก(ชอง-จันทบุรี)
ชื่ออังกฤษBanana

ลักษณะกล้วยเป็นพืชเมืองร้อน มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเหง้าสีนํ้าตาลอ่อน แข็ง มีรากสีน้ำตาล ยาวประมาณ 15-30 ซ.ม. ประมาณ 10-20 ราก
ลำต้นบนดิน มีลักษณะตรง กลมสูง 3-4 เมตร ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบมาซ้อนๆ กันจนแน่นสามารถลอกออกมาได้เป็นกาบๆ ทั้งต้นอวบนํ้า ใบเดี่ยวแผ่นใบมีขนาดใหญ่ยาว ปลายและโคนใบมน ขอบใบขนาน ใบกว้าง 35-60 ซ.ม. ยาว 1.50- 1.80 เมตร มีแกนกลางใบเป็นสันนูน ผิวใบมีนวล ดอกช่อพุ่งออกมาจากลำต้นใต้ดิน แทงผ่านกลางลำต้นบนดินมาโผล่ที่ปลายยอด ช่อดอกมีขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า
หัวปลี ช่อดอกมีใบประดับหุ้มมิด เมื่อบานจะเห็นใบประดับย่อยสีม่วงแดง อยู่ภายใน ผลกล้วยรวมกันเป็นเครือ แต่ละเครือประกอบด้วยหลายๆ หวี ในหนึ่งหวีมีผลกล้วยหลายผล รูปร่าง ขนาด สีผล รสชาติของกล้วยเมื่อสุกจะแตกต่างกันแล้วแต่พันธุ์ เป็นต้นว่ากล้วยไข่มีผลขนาดเล็ก ผิวผลสุกสีเหลือง รสชาติหวานอร่อย ส่วนกล้วยนาก ผลใหญ่กว่ากล้วยไข่ ผิวผลเมื่อสุกเป็นสีแดงคลํ้า รสหวาน ในกล้วยบางชนิดไม่มีเมล็ด เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม บางชนิดมีเพียง 2-5 เมล็ด เช่น กล้วยนํ้าว้า บางชนิดมีเมล็ดมาก เช่น กล้วยตานี กล้วยครก เป็นต้น
ส่วนที่ใช้เหง้า ต้นบนดิน ก้านใบ แกนกลางใบ แผ่นใบ หัวปลี ผลอ่อน ผลแก่จัด ผลสุก
สารสำคัญ ผลดิบมีรสฝาด มีสารพวกแทนนินมาก ผลสุกของกล้วยประกอบด้วยนํ้าตาล และวิตามินหลายๆ ชนิด โปรตีน นํ้ามันหอมระเหย และมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายอืนๆ เช่น nor-epinephrine, serotonin, dopamine และอื่นๆ
ประโยชน์ทางยากล้วยดิบ ใช้รักษาอาการท้องเดิน โดยใช้กล้วยนํ้าว้าดิบฝานบางๆ ทำให้แห้ง หรือทำให้เป็นผง รับประทานครั้งละ 1/2-1 ผล
กล้วยห่าม ใช้รักษาโรคกระเพาะ ใช้กล้วยหักมุกทิ่แก่จัด ฝานบางๆ ทำให้แห้ง บดเป็นผง รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงจะเห็นผล รับประทานจนกว่าจะหายเป็นปกติ ถ้าไม่มีกล้วยหักมุกใช้กล้วยนํ้าว้าแทน
สำหรับการใช้กล้วยรักษาอาการท้องเดินได้ผลดีนั้น เนื่องจากในเนื้อกล้วยดิบมีสารแทนนินอยู่ประมาณ 1.52-1.66% จึงสามารถระงับอาการท้องเดินได้ เนื้อกล้วยนอกจากมีสารแทนนินแล้วยังมีธาตุโปแตสเซียมสูงซึ่งจะไปช่วยชดเชยสารโปแตสเซียมในผู้ป่วยที่ได้สูญเสียไปในขณะที่ท้องเดิน ทำให้เกิดความสมดุลของโปแตสเซียมและโซเดียมในร่างกาย (ในเนื้อกล้วยดิบ 100 กรัม มีโปแตสเซียมอยู่ 401.0 มิลลิกรัม) ผู้ป่วยบางคนเมื่อรับประทานกล้วยน้ำว้าดิบแล้ว จะมีอาการท้องอืดเฟ้อ ให้รับประทานยาขับลมร่วมด้วย เช่น นํ้าขิง จะช่วยทำให้อาการข้างเคียงหมดไป
การใช้กล้วยห่ามรักษาโรคกระเพาะนี้ มีการทดลองในสัตว์พบว่าได้ผลดี ผู้วิจัยเข้าใจว่ากล้วยดิบไปกระตุ้นเซลล์ในเยื่อบุกระเพาะ ทำให้ผลิตนํ้าเมือก (mucin) ออกมามากขึ้น จะไปช่วยเคลือบกระเพาะหรือเคลือบแผลในกระเพาะ จึงช่วยรักษาแผลได้
ในปี 1985 Ghosal ได้แยกสารออกจากกล้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านแผลในกระเพาะที่เกิดจากฮีสตามิน ได้สารชื่อว่า “sitoindoside I-IV” สารทั้ง 4 ชนิดนี้พบว่า sitoindoside IV เป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด
ปลูกเป็นไม้ประดับปลูกง่ายสวยงาม เช่น กล้วยบัว กล้วยพัด ฯลฯ
กล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์มากมาย ทุกส่วนใช้ประโยชน์ได้ ผลมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งราคาย่อมเยา นอกจากนั้นส่วนของกล้วยสามารถใช้รักษาโรคได้หลายโรค การปลูกไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ปลูกง่าย การปลูกกล้วยนอกจากมีประโยชน์ดังกล่าวแล้วยังช่วยทำให้สภาพดินที่ไม่สมบูรณ์นั้นดีขึ้น และยังช่วยลดมลภาวะลงได้ โดยการใช้ส่วนของต้นกล้วย เช่น ใบตอง กาบกล้วย ต้นกล้วยแทนโฟมและพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิดมลภาวะมาก ถ้าเรารู้จักนำส่วนของกล้วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความสมดุลขึ้นด้วย
ใบตองสดใช้ห่อของ ใช้ทำงาน “ใบตอง” เป็นงานประดิษฐ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยเช่น บายศรี กระทง และอื่นๆ
ทั้งต้นของกล้วยใช้ในงานมงคลคู่กับต้นอ้อย เช่นใช้ในพิธียกเสาเอก พิธี แต่งงาน ฯลฯ